Introducing Lu Yang

14
January 2020
·
min read

Lu Yang is a Shanghai based multimedia artist and is one of the first 16 artists announced for the 2020 Bangkok Art Biennale. Lu Yang produces work that explores deep and thought-provoking topics such as neuroscience, sexuality, mortality and religion; through playful lenses. Through the medium of new technologies including 3D-animated films, video game-like installations, holograms, neon, VR and even software manipulation, Lu yang’s work bridges the scientific and the technological with aesthetics drawn from popular youth culture, Japanese manga and anime references.


Lu Yang graduated from the New Media Art department of the China Academy of Art, Hangzhou. She often collaborates with performers, designers, experimental composers, robot companies, and idol stars and has been feature in several important solo and group exhibitions at venues such as UCCA (Beijing), Centre Pom- pidou (Paris), M woods museum (Beijing), Spiral (Tokyo), MAXXI, National Museum of XXI Arts (Rome), Sadie Coles (London), Fridericianum (Kassel), Société (Berlin), DFB Performance Gallery (Chicago), Chronus Art Center (Shanghai), Momentum (Berlin), MOCA Cleveland USA (Cleveland), and Tampa Museum of Art (Tampa).

อีกหนึ่งใน 16 รายชื่อแรกของศิลปิน Bangkok Art Biennale 2020 จากเซี่ยงไฮ้ Lu Yang ผลงานของเธอคือการเปิดจักรวาลแห่งความโกลาหลของภาพลักษณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาสู่ศูนย์กลางทางความคิด ความลุ่มหลงและแรงบันดาลใจที่มาจากวัฒนธรรม J-Pop, แฟชั่นคอสเพลย์ ,มังงะหรืออะนิเมะของญี่ปุ่น ,ดนตรีร้อค, อิเล็กทรอนิกส์, ฮิปฮอป ,โลกอินเตอร์เนท, เทคโนโลยี AI , ภาพยนต์วิทยาศาสตร์ ,วิดีโอเกมส์ซึ่งปะปนมากับจิตวิญญาณ ,อัตลักษณ์และเรื่องราวทางเพศ ,ความเป็นความตาย ,ระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต, เหล่าทวยเทพและไอคอนแห่งความเชื่อในตำนาน ,สัญญะทางศาสนา, ปรัชญาตะวันออก, ภาพลักษณ์ของพิธีกรรม,ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ด้วยสีสันสดแสบกับจินตนาการสุดแฟนตาซีออกไปสู่สื่อนานาชนิด ทั้งภาพยนต์อินสตอลเลชั่น ,มิวสิควิดีโอ ,โฮโลแกรม , VR ,จิตรกรรม ประติมากรรม ,ภาพถ่าย ,ไฟนีออน หรือแม้แต่อินเทอร์แอ็คทีฟที่ดึงคนดูเข้าไปมีส่วนร่วมในผลงานในรูปแบบของเกมส์


Lu Yang สนใจสื่อดิจิทัลและยืนยันว่าเธอไม่ได้ใช้สื่อใหม่ในการทำงานศิลปะ อีกทั้งปฏิเสธการถูกติดป้ายว่าเป็นศิลปินในแนวทาง Post internet ( งานศิลปะที่มุ่งเสนอผลกระทบของอินเตอร์เนทต่อสังคมวัฒนธรรมโดยผลงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในแพลทฟอร์มของอินเตอร์เนทเท่านั้นที่ต่างจากแนวทางก่อนหน้าซึ่งจะต้องใช้อินเตอร์เนทจริงๆสร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น เกมส์ออนไลน์ การแฮกข้อมูล ภายใต้ชื่อ Net Art ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของปลายยุค 90 เข้าสู่ทศวรรษแรกของยุค 2000 อย่างไรก็ตาม คำนี้ยังคงมีการถกเถียงถึงนิยามความหมายจริงๆของมัน ) และไม่คิดว่าผลงานของตัวเองจะถูกจัดหมวดหมู่อยู่ในลัทธิหรือขบวนการอะไรด้วยซ้ำ


งานภาพยนต์อะนิเมชั่นสุดเวี้ยต Uterus Manในปี 2013 คือคาแรคเตอร์ซุปเปอร์ฮีโร่ไร้เพศขี่กระดูกเชิงกรานมนุษย์ที่หางยาวเหมือนแมงป่องที่ปลายหางคือกะโหลกมนุษย์กับการเล่นสเกตบอร์ดบนแผ่นผ้าอนามัยแบบมีปีก คือส่วนผสมระหว่างการ์ตูนญี่ปุ่นกับไดอะแกรมของร่างกายคน เดินทางไปสู่โลกแฟนตาซีในอวกาศ  บุกรุกเข้าไปในดีเอ็นเอมนุษย์ ช่องคลอดของผู้หญิงและการถือกำเนิดของเด็กทารกผ่านภาพสแกนจริงๆจากช่องท้องปนเปมากับภาพการ์ตูนอะนิเมชั่น การต่อสู้ด้วยนิวเคลียร์ และการกัดกินเรือนร่าง การเล่นสนุกกับทารกด้วยการเหวี่ยงสายสะดือที่ยังติดอยู่กับตัวเด็กด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นซาวด์ประกอบ เหล่านี้คือการมองมนุษย์ที่ผสมพันธุ์กับเครื่องจักรกลในจินตนาการ


ผลงาน Moving Gods ในปี 2015 จากงานเวนิส เบียนนาเล่ คือการทะลุทะลวงเข้าไปสู่จิตวิญญาณของไอคอนแห่งความเชื่อที่หลอมรวมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Lu Yang ใช้นักแสดงจริงหลายคาแรคเตอร์หลายชนชาติให้ออกมาโพสท่าและแต่งตัวคล้ายเทพเจ้าที่ทรงพลังอำนาจ ความเป็นตะวันออกโดยเฉเพาะรูปลักษณ์ของเทพฮินดูที่กลายพันธุ์ใหม่ได้สร้างความงามที่แปลกประหลาดและอีกเหมือนกัน เสียงโหยหวนของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่โชยกลิ่นตะวันออกยังคงประกอบร่างให้งานชิ้นนี้สุดแฟนซีพาคนดูหลุดเข้าไปในอีกมิติหนึ่งของจิตซึ่งอบอวลไปด้วยความเคร่งขรึมแห่งความเชื่อ เธอคือศิลปินที่อายุน้อยที่สุดจากกลุ่มศิลปินจีน 3 คนที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงในงานปีนั้น


งาน 3D อะนิเมชั่นและใช้คนจริงๆแสดงที่ลงเอาไว้ในเว็บไซต์ Vemio ล้วนเกี่ยวพันกับมนุษย์ที่ถูกสแกนก้อนสมอง การผ่าตัดอวัยวะ หัวกะโหลก การเชื่อมต่อเส้นประสาท การตัดแต่งพันธุกรรมด้วยภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค การสร้างแบบจำลองของตัว Lu Yang เองในสภาพไร้เพศที่เต้นและเคลื่อนไหวราวกับหุ่นยนต์ บรรดาเหล่าทวยเทพพันธุ์ใหม่เหมือนกับสัตว์ต่างดาวที่ผสมร่างกับหุ่นยนต์จากการ์ตูนญี่ปุ่น Lu Yang เหมือนกับจะสร้างโลกของห้องแล็ปทดลองวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีววิทยาพร้อมๆกันไปกับการสร้างตู้เกมส์ที่สว่างสไวและชักชวนผู้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เหมือนของเล่นตามศูนย์การค้า


ผลงานจากนิทรรศการกลุ่มในเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย ชื่อว่า HyperPrometheus : The Legacy of Frankenstein เมื่อปี 2018 ที่สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง Frankenstein : The Prometheus ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีของนวนิยายเรื่องนี้ที่แต่งโดย Mary Shelly ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกที่ลอนดอนเมื่อปี 1818 เพื่อค้นหาการตีความใหม่ของศิลปินร่วมสมัยในยุคนี้ว่าจะมองเรื่องราวของแฟรงเกนสไตน์ มนุษย์เทียมที่เกิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นอกรีตในมุมไหนหรือเปลี่ยนบริบทมันอย่างไร ในผลงานของ Lu Yang ชื่อ Reanimation! Underwater Zombie Frog Ballet! สร้างมิวสิควิดีโอโดยใช้ซากกบที่ตายแล้วเรียงอยู่ในตู้แก้วชำแหละท้องและใช้สายไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้าไปในเส้นประสาทและช้อตเพื่อให้ขาของกบนั้นกระตุกและเคลื่อนไหวอีกครั้งคล้ายเต้นบัลเล่ต์ไปตามจังหวะดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเสียงสังเคราะห์ขึ้นใหม่ การใช้ไฟฟ้าสร้างชีวิตที่ตายแล้วดูจะตรงกับกับเรื่องราวคลาสสิคของมนุษย์ในตำนานคนนี้ มันเป็นการทดลองแบบเก่าที่ปรากฏจากงานวิจัยของ Luigi Galvani ที่ปฏิวัติวงการแพทย์ในช่วงปี 1780-1786 ซึ่งค้นพบว่าพลังงานไฟฟ้าสามารถสร้างอาการกระตุกให้ขาของกบที่ตายไปแล้วเคลื่อนไหวได้ และแฟรงเกนสไตน์ก็คือภาพลักษณ์แห่งวังวนของจินตนาการจากนิยายไซไฟที่ฉายภาพภูมิทัศน์ของโลกแห่งศตวรรษที่ 18-19 อันปรากฏอยู่ในทัศนะการมองมนุษย์แบบเครื่องจักรที่ส่งผลโดยตรงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การแพทย์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และการแยกร่างกายออกจากจิตใจ Lu Yang ทำงานชิ้นนี้มาก่อนปี 2018 ด้วยการผสมผสานห้องจำลองวิทยาศาสตร์ให้ยั่วล้อไปกับกับมิวสิควิดีโอดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สุดเซอร์ ซึ่งมันตอบรับกับ Theme ของนิทรรศการนี้อย่างกลมกลืน


 


"ฉันไม่ได้แยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว และไม่มีความรู้สึกอะไรมากมายในชีวิตประจำวันของตัวเองนัก ฉันไม่ร้องไห้เมื่อดูหนังเศร้าอย่างที่เขาเศร้าๆกัน และไม่ขำในสิ่งที่คนอื่นๆคิดว่าเป็นเรื่องตลก มันจึงทำให้ฉันสร้างชิ้นส่วนของความแข็งแกร่งเพื่อที่ตัวเองจะได้ผนึกแน่นอยู่กับมัน โดยการสร้างพื้นที่เฉเพาะของตัวเองขึ้นมา"


ไม่เคยมีเรื่องการเมืองในงานของ Lu Yang อย่างที่เธอยืนยันพอๆกับสำนึกของการเป็นคนจีน หรือแม้แต่การแปะป้ายว่าเป็นศิลปินจีนที่ยังไงเสียผลงานก็ต้องเกี่ยวกับการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในสายตาคนชาติอื่นๆที่มองเข้ามา เธอปฏิเสธแถมยังบอกอีกว่าศิลปินจีนบางคนฉกฉวยเรื่องนี้เพื่อสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองด้วยซ้ำ สำหรับ Lu Yang เธอผูกพันธ์และใช้ชีวิตกับโลกออนไลน์ทางอินเตอร์เนทจนเหมือนกับว่าเป็นบ้าน "ฉันชอบพูดเสมอว่า ฉันอยู่บนอินเตอร์เนท ในเว็บไซต์ Weibo ที่ฉันแชทกับผู้คน ฉันไม่ต้องระบุเพศหรือประเทศของตัวเอง และสามารถเป็นใครก็ได้"


แต่ในอีกด้านหนึ่งเธอยอมรับว่าเธออยู่ในกลุ่มของคนจีนรุ่นใหม่ที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพ เธอไม่ใช่เด็กหลงอยู่ในโลกออนไลน์อย่างเลื่อนลอยและแค่สนุกกับมันไปวันๆ ความสนใจที่หมกมุ่นนำไปสู่การผลิตงานอย่างจริงจังแบบศิลปินมืออาชีพ และพร้อมจะเกิดไอเดียในการสร้างงานศิลปะได้อย่างรวดเร็วพอๆกับการลงไปสำรวจถึงสิ่งที่อยากรู้อย่างจริงจัง แน่นอน มันอุดมไปด้วยความสนุกในการสืบค้น เธอสนใจผลผลิตทางความคิดของมนุษย์ที่อาบคลุมไปด้วยบริบทแห่งความเชื่อ ตั้งแต่ความเชื่อเพื่อความบันเทิงล้วนๆจนไปถึงความเชื่อที่มีต่อประวัติศาสตร์และตำนานต่างๆในการเยียวยาจิตใจ หรือเติมแต่งประสบการณ์ที่มีต่อความเชื่อต่อสิ่งที่มองไม่เห็น หนึ่งในนั้นคือความเชื่อที่มีต่อศาสนา


เมื่อถูกถามเรื่องศาสนา Lu Yang ตอบว่า "มันเป็นความสนใจเช่นเดียวกับเพลงที่คุณชอบ สำหรับฉัน ศาสนาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต มันช่วยให้ฉันคิดหรือรู้เกี่ยวกับโลกนี้ เมื่อคุณอ่านทุกศาสนาคุณจะบอกได้ว่าสิ่งไหนเหมาะกับคุณ คุณต้องใช้ความรู้พื้นฐานจากศาสนาอื่นเป็นการเปรียบเทียบ ฉันเห็นด้วยกับหลายประเด็นในบางศาสนา โดยเฉเพาะศาสนาพุทธและความคิดเกี่ยวกับความทุกข์ ในศาสนาพุทธพวกเขากล่าวว่ามีวิธีดับความทุกข์แปดแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะมีความสุขหรือคุณจะคลั่งไคล้อะไรหรือด้วยอารมณ์ชนิดไหนก็ตาม"


ในทางตรงกันข้ามกับความจริงของมนุษย์ที่อุดมอยู่ในห้วงของความทุกข์และการดิ่งลึกเพื่อสืบค้นตัวตนภายในวิถีพุทธ Lu Yang กลับไม่ลังเลที่จะบอกว่า ผลงานของเธอคือโลกสมมุติที่เธอสร้างขึ้นและเล่นกับมัน คล้ายกับเหรียญคนละด้านกับโลกของความจริงที่เราใช้ชีวิตอยู่


Lu Yang ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเปลือกหรือรูปลักษณ์ทางศาสนาที่ถูกปั้นแต่งเพื่อโน้มน้าวผู้คนมากไปกว่าปรัชญาหรือเนื้อหาที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆจากสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่พยายามจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข รูปลักษณ์แห่งความเชื่อในผลงานของเธอเป็นการบูชาโลกวิทยาศาสตร์มากกว่าที่จะเทิดทูนรูปลักษณ์ของศาสดาหรือเทพเจ้า และถ้ามันจะผสมปนเปกันก็เพื่อที่จะเล่นสนุก พอๆกับการยั่วยุท้าทายและบิดเบือนให้เกิดการกลายพันธ์ไปสู่ผลลัพธ์ที่ชักชวนให้เราย้อนกลับมาทำความเข้าใจโลกสองด้านในอีกฟากฝั่งของการรับรู้ เราอาจพบเห็นสิ่งนี้ในนิยายหรือภาพยนต์ไซไฟ ทว่าจักรวาลในจินตนาการของ Lu Yang ไม่ได้เรียงร้อยลำดับความแบบนิยายหรือหนังเหล่านั้น แต่มันคือสภาวะบางอย่างซึ่งไม่จำเป็นต้องมีที่มาที่ไป และมุ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่กระทบโดยตรงกับประสาทสัมผัสปกติของผู้คน เธอใช้วงโคจรจากบรรดาดาวเคราะห์น้อยใหญ่ของเหล่าทวยเทพแห่งความเชื่อที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาลและตัวการ์ตูนซึ่งเหมือนกับตัวแทนความเชื่อในอีกด้านหนึ่งที่หมุนวนอย่างไร้ระเบียบและชนกันจนวุ่นวายปั่นป่วน สัญลักษณ์ดั้งเดิมและต่างบริบทถูกนำมาผสมปนเปเพื่อสถาปนาคาแรคเตอร์ใหม่กับเรื่องราวใหม่จนก่อกวนให้เกิดประสบการณ์การรับรู้แบบใหม่ขึ้น


และกับเรื่องเพศ ซึ่งดูเหมือนจะปนเปอยู่ในงานของ Lu Yang เธอเชื่อว่าเพศหญิงหรือชายคือบริบทที่ถูกแบ่งแยกในสังคม แต่มนุษย์นั้นโดดเดี่ยวอยู่กับวิญญาณของตัวเอง เธอปฏิเสธถึงความเป็นเฟมินิสต์ในผลงานอีกเช่นกัน และยืนยันว่าผลงานของเธอไม่เคยพูดถึงสิทธิของเรื่องนี้ สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นสัญญะทางสังคมทั้งความเป็นชายและหญิงหรือไม่เป็นทั้งชายหรือหญิงล้วนมาจากการอยู่กับตัวเองและใช้มันเป็นเครื่องมือบอกถึงสภาวะความเป็นมนุษย์ในบริบทของการสร้างภาพจำลองแบบใหม่เท่านั้น แต่ถ้ามันจะระบุถึงความเป็นเพศหรือเรื่องเพศในงานชิ้นนั้น ก็เป็นไปในลักษณะการยั่วยุให้ตื่นเต้น ทว่าไม่ใช่ความตื่นเต้นฉาบฉวย มันกลับชี้ชวนให้เกิดการรื้อสร้างความหมายเดิมของความเชื่อที่เคยมีมา เช่นภาพเพ้นต์ติ้งที่อ้างอิงจากภาพ Birth of Venus ของ Botticelli แต่ถูกตัดหัวและถือหัวตัวเองและมีเลือดพุ่งออกมาเหมือนกับรูปลักษณ์ของ Chhinamasta เทพีแห่งความขัดแย้งในศาสนาฮินดูอันเก่าแก่ โดยมี Nessie ( สัตว์ประหลาดในตำนานจากภาพถ่ายเพียงภาพเดียวที่โผล่หัวขึ้นมาจากทะเลสาป Loch Ness ในสกอตแลนด์ ) ซึ่งกลายร่างเป็นการ์ตูน กะโหลกยักษ์ และชายหญิงในภาพ Birth of Venus อ้าปากรองรับเลือดที่พุ่งออกจากคอของวีนัส มันคือการสละชีวิตเพื่อให้ชีวิต จากผู้หญิงที่ปรากฏรูปสัญญะของเทพีซึ่งหลอมรวมกันจากสองฝั่งโลก สองความเชื่อและสองบริบทที่บรรจุเรื่องเล่าอันพิลึกพิลั่นมาบรรจบกันบนคำถามถึง ความเป็นเพศหญิงที่ถูกวัฒนธรรมทางสายตากำหนดบทบาทอันเด่นชัดมาช้านาน คล้ายกับภาพล้อเลียน ทว่ามันคือการเขย่าขวัญประวัติศาสตร์ที่อยู่ในระเบียบแบบแผนจากสำนึกของผู้คนให้คละคลุ้งขึ้นมาด้วยตะกอนของจินตนาการ


ในผลงานเพ้นต์ติ้งอีกชิ้นหนึ่งจากนิทรรศการเดียวกัน Lu yang วาดภาพใบหน้า Marilyn Manson  ( นักร้องร็อคอเมริกันสายดาร์คสุดขีดของวงดนตรีชื่อเดียวกันที่โด่งดังจากภาพลักษณ์และดนตรีที่รุนแรงซึ่งทั้งเพลงและโชว์ข้ามเส้นเขตแดนทางสังคมวัฒนธรรมกับศีลธรรมจนได้รับการขนานนามว่าเป็นทูตของซาตาน ชื่อของเขาและวงคือส่วนผสมระหว่างดาราสาวสุดสวยอมตะ Marilyn Monroe กับ Charles Manson ฆาตกรและผู้นำลัทธิที่ส่งผลให้เกิดการฆาตกรรมหมู่ หนึ่งในเหยื่อคนนั้นคือ Charon Tate ภรรยาของผู้กำกับหนังชื่อดัง Roman Polanski ) กลายร่างเป็นงูพิษที่น่าหลงไหลพอๆกับดุร้ายน่ากลัว เธอสักการะนักร้องคนโปรดด้วยการให้เขาทนทานจากการถูกพ่นไฟใส่จากคาแรคเตอร์การ์ตูนจีนที่โด่งดังในยุค 80  Calabash Brothers นี่คือการผสมพันธุ์กันอีกครั้งระหว่างวัฒนธรรมสองฝั่งโลกที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างความเป็นเด็กร่าเริงกับวัยรุ่นหม่นมัว ระหว่างด้านสว่างกับด้านมืดของสองไอคอนที่เด่นชัดในคนละทาง ธรรมะกับอธรรม หรือไกลไปถึงสภาวะทางจิตวิปริตกับความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา


Lu yang เกิดปี 1984 จบการศึกษาทางด้าน New Media ที่ China Academy of Art ในเมือง Hangzhou และมีผลงานในนิทรรศการสำคัญๆมากมาย ผลงานของเธออาจชวนให้คิดถึงสิ่งที่ผู้คนในช่วงเวลาแห่งยุค 90 เรียกมันว่า ความจริงเสมือน แต่ในศตวรรษนี้ความจริงชนิดนี้ผนึกแน่นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเราจนแยกไม่ออก ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันในรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากอดีต ส่งผลให้ความคิดของปัจเจกฉายภาพภูมิทัศน์แบบใหม่ เป็นแลนด์สเคปของภาพจำลองที่ซ้อนทับอยู่กับความจริง การสื่อสารผ่านวัฒนธรรมทางสายตาซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในสังคมครอบงำ ชักจูงและมีพลังอำนาจควบคุมพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของคนเราจนเชื่อไปในทิศทางเดียวกันและสั่นสะเทือนเข้าไปสู่จิตสำนึกระดับลึก มันทำให้เราเชื่อมตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งประกอบสร้างจากโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือแม้แต่การตีความใหม่ในการมองศาสนา เพศสภาพ สังคมและจริยธรรมจนกลายเป็นที่มาของการสังเคราะห์ให้เกิดมนุษย์อีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง เป็นเผ่าพันธุ์แห่งการปรับตัวให้ดำรงอยู่ในโลกของมวลสารชนิดใหม่ที่ถูกบงการมาจากสังคมดิจิทัล Lu Yang คือผลผลิตของปฏิสัมพันธ์และทัศนคติชนิดนั้นซึ่งเธอใช้มันไปในผลงานอย่างคึกคะนองและตอบสนองคนในศตวรรษนี้อย่างแท้จริง

Related