Maisie Cousins
b. 1992, London, UK
Lives and works in London, UK
เมซี่ คัสซินส์
เกิด พ.ศ. 2535 ลอนดอน สหราชอาณาจักร
อาศัยและทำงานอยู่ที่ ลอนดอน สหราชอาณาจักร
เมซี คัสซินส์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เธอจบการศึกษาจาก Brighton University และ Camberwell College of Art กรุงลอนดอน เธอเป็นหนึ่งในช่างภาพหญิงที่กำลังมาแรงในสหราชอาณาจักร เธอได้จัดแสดงที่ Tate Britain, Tate Modern, T.J. Boulting, งานนิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ Photo London กรุงลอนดอน และ Vogue Photo Festival กรุงมิลาน
ขณะศึกษาที่โรงเรียนสอนศิลปะ เมซีได้ทดลองใช้สีอิ่มตัวและพื้นผิวมันวาว เธอชื่นชอบความมันวาวของผิวจึงเริ่มถ่ายภาพส่วนต่างๆ ของร่างกายในระยะประชิด โดยล้อมรอบด้วยสิ่งที่เธอสนใจและใช้เป็นอุปกรณ์ตกแต่งองค์ประกอบภาพ
เมซีได้รับการยอมรับจากชุดภาพแมลง ขยะและอาหารเน่าเสียที่ถ่ายในระยะประชิด สำหรับเธอ “ธรรมชาติสวยงามและน่าขยะแขยงเสมอ แม้แต่คนที่สวยที่สุดก็ยังฉี่ เลือดออก และอึ” เธอเผชิญหน้ากับความเป็นจริงด้วยการมองโลกอย่างละเอียดราวกับกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งความสวยงามและความแปลกประหลาดนั้นถูกถ่ายทอดไปพร้อมๆ กันในภาพถ่ายที่มีความเหนียวเหนอะหนะ ชุ่มเหงื่อและอิ่มน้ำมากเกินไป สำหรับเธอแล้ว วัฒนธรรมตะวันตกหมกมุ่นอยู่กับร่างกายจนน่าขนลุก ไม่ว่าจะเป็นร่างกายคนดัง ร่างกายพิกลพิการหรือร่างกายคนอ้วน การที่ร่างกายเราถูกมองราวกับว่าไม่ได้เป็นของเราอีกต่อไป หากแต่เป็นวัตถุสำหรับการสนทนาของใครก็ตามนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาไปในที
เมซีมักใช้ของไร้ประโยชน์และของเหลือในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่างเช่น ถุงช้อปปิ้งพลาสติกยับยู่ยี่หนอนไต่ยั้วเยี้ย บะหมี่ ติ่มซำ เกี๊ยวกุ้งที่เหลืออยู่ในซอสเหนียวหนืด บั้นท้ายและหน้าอกในระยะประชิดที่จมอยู่ในสารละลายลื่นไหล ด้วยกระแสบริโภคนิยมเติบโตด้วยความต้องการต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ผู้บริโภคจึงมุ่งออกกำลังกาย ลดปริมาณแคลอรี่ และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม แม้ว่าเราจะใส่ใจสุขภาพ แต่เราก็มักจะอดทานอาหารขยะที่มีแคลอรี่สูงและสีผสมอาหารไม่ได้ และนั่นเป็นเพราะการส่งเสริมการขายและโฆษณา
สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 เมซีจะจัดแสดงภาพพิมพ์ด้วยเครื่องอิงค์เจ็ทขนาดใหญ่ที่เหมือนโฆษณาอันเย้ายวนที่เครือร้านอาหารต่างๆ ใช้โปรโมทผลิตภัณฑ์ของตน ต่างกันแค่ตรงที่สารที่เธอต้องการสื่อคือ “เรากินอะไรเข้าไป เราก็เป็นอย่างนั้น” ในท้ายที่สุด เราทุกคนก็ตกอยู่ในสภาพที่น่ารังเกียจเหมือนๆ กัน